วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ปัจจัยทางวัสดุของประติมากรรมไทย


ปัจจัยทางวัสดุของประติมากรรมไทย


วัสดุเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขและปัจจัยของการแสดงออกของประติมากรรมที่สร้างให้ประติมากรรมไทยมีคุณค่าและลักษณะพิเศษที่เป็นลักษณะไทยแตกต่างไปจากชาติต่าง ๆ เช่นเดียวกับจิตรกรรมไทย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้างตามรสนิยม และความเจริญเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ประติมากรรมยังรักษาคุณค่าความงาม ความรู้สึก และลักษณะของความเป็นไทยตลอดมา และเนื่องจากจิตรกรรมและประติมากรรมมีการสร้างและกระทำพร้อมกันในแต่ละยุคสมัย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน ย่อมมีพื้นฐานปัจจัยที่มีเงื่อนไขต่อการแสดงออกเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิศาสตร์ ด้านสังคม ด้านประวัติศาสตร์ ด้านศาสนา และด้านวัสดุ ที่หล่อหลอมให้เกิดลักษณะไทยงานประติมากรรมขึ้นในที่นี้จะกล่าวเฉพาะปัจจัยด้านวัสดุของประติมากรรมไทย

วัสดุที่นำมาสร้างงานประติมากรรมไทยมีหลายชนิด วัสดุเป็นสิ่งที่ใช้ในการสร้างสรรค์รูปทรง และแสดงเนื้อหาสาระตามความประสงค์ของประติมากรรมที่ต้องการแสดงออก วัสดุเหล่านี้มีความหลากหลายในคุณลักษณะหรือคุณสมบัติแตกต่างกันไป วัสดุบางชนิดแข็ง บางชนิดนุ่ม บางชนิดกึ่งแข็งกึ่งนุ่ม คุณสมบัติเหล่านี้มีความสำคัญต่อการสร้างสรรค์ประติมากรรมเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ ดิน หิน ไม้ ปูน โลหะ งาช้าง ขี้รัก และหนังสัตว์.

1. ดิน
ดินเป็นวัสดุพื้นฐานในการปั้นรูปต่าง ๆ เมื่อปั้นเป็นรูปทรงทางประติมากรรมต่าง ๆ แล้วนำไปดำเนินการหล่อเป็นโลหะ เช่น พระพุทธรูปหรือเทวรูปทั้งหลาย พื้นฐานเบื้องต้นของการดำเนินการนั้นมาจากดินทั้งสิ้นหรือเมื่อปั้นเป็นรูปทรงทางประติมากรรมตามประสงค์แล้วผึ่งแดดให้แห้งและนำไปเผาให้สุก จะมีเนื้อแข็งทนถาวาร เช่น ภาพพระโพธิ์สัตว์ นางอัสปร นักดนตรี ดินเผาประดับสถาปัตยกรรมในสมัยทวารวดี พระพิมพ์ดินเผาสมัยศรีวิชัย เป็นต้น
นอกจากนี้ ถ้านำมาเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบ ก็จะได้เครื่องปั้นดินเผา ดังเช่นสมัยสุโขทัยมีการทำเครื่องตกแต่งประดับพุทธสถานด้วยเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ บราลีกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องเชิงชาย ลายประดับผนัง หัวนาค หัวมกร ยักษ์ เทวดา นางอัปสร ฯลฯ


2. หิน
ประเทศไทยมีหินอุดมสมบูรณ์ หินมีอยู่หลายชนิดที่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุสร้างงานประติมากรรมได้ ที่นิยมใช้คือหินทราย
2.1 หินในประติมากรรม ทั้งพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ใบเสมา รวมทั้งธรรมจักรและกวางหมอบหลายองค์และหลายชิ้นใช้ชิ้นเป็นวัสดุในการสร้างสรรค์ เช่น ประธานวัดชุมพลนิกายาราม เป็นพระพุทธรูปสลักหินสมัยพระเจ้าปราสาททอง ศิลปะอยุธยา พระพุทธรูปศิลางาม ๆ หลายองค์ที่วัดพระศรีมหาธาตุและที่ปรางค์ 3 ยอด ลพบุรี สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ศิลปะอยุธยา หรือธรรมจักรและกวางหมอบสลักหินในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ศิลปทวารวดี เป็นต้น
2.2 หินในประติมากรรมตกแต่ง ภาพหรือลดลายตกแต่งประดับอาคารที่พบเห็นมากที่สุดในการสร้างสรรค์ศิลปะในสมัยลพบุรี หรือรูปสลักภาพรามเกียรติ์ ประดับผนังพระระเบียงพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมัคลาราม เป็นต้น


3. ไม้
วัสดุที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติของไทยมีทั้งไม้สัก ไม้ปลู ไม้โมก ไม้ลมุล ฯลฯ ล้วนเป็นไม้เนื้อแน่นละเอียดเหมาะสม ช่างไทยนำมาใช้สร้างสรรค์ประติมากรรมเป็นจำนวนมาก และทำสืบต่อมาเป็นเวลานาน
งานจำหลักไม้มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มีทั้งการแกะสลักพระพุทธรูป เทวรูปเทวดา งานที่ใช้สำหรับรับตกแต่งศิลปะวัตถุทางศาสนาและมหากษัตริย์เป็นส่วนใหญ่ เช่น จำหลักลายพระสถูปเจดีย์ พระที่นั่งบุษบกมาลาประดับเสลี่ยงราชยาน จำหลักลายหน้าบัน คันทวย บานประตู หน้าต่างดบสถ์ วิหาร หรือปราสาทมณเฑียรแม้แต่เรือพระที่นั่งสำคัญ ๆ ของพระมหากษัตริย์สิ่งที่รองลงของเครื่องจำหลักไม้ก็คือ การจำหลักเครื่องเรือนไทย มีทั้งจำหลักลวดลายหรือเรื่องราวตลอดทั้งชิ้น และจำหลักแต่เพียงส่วนล่าง นอกจากนั้นใช้กรรมวิธีอื่น ๆ เช่น ลายรดน้ำ ลายประดับมุก ตกแต่งเครื่องเรือนในวิจิตรพิสดารอีกทีหนึ่ง
ไม้ที่นิยมนำมาจำหลักประติมากรรมทุกชนิดก็คือ ไม้สัก เพราะเป็นไม้เนื้อไม่แข็งจนเกินไป ช่างสามารถใช้เครื่องมือจำหลักให้อ่อนไหวพลิกพลิ้วมือและใจปรารถนาของช่างได้เนื่องจากไม้เป็นวัสดุที่ใช้สร้างสรรค์ประติมากรรมของไทยมานาน และสำคัญมากสิ่งหนึ่งจึงมีงานสลักไม้ชิ้นสำคัญ ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก
เครื่องจำหลักไม้ที่พบเก่าแก่ที่สุดเป็นเครื่องจำหลักไม้สมัยสุโขทัย คือเพดานสลักไม้บรรจุเหนือฝ้าเพดานที่วัดพระศรีรัตนมาหาธาตุ สวรรคโลก และเครื่องไม้จำหลักซุ้มเรือนแก้วหลังพระพุทธชินราช พิษณุโลก และถ้าพิจารณาลายปูนปั้นเช่นที่วัดนางพญา ศรีสัชนาลัยสุโขทัย จะเห็นว่าช่างมีความสามารถสูง มีฝีมือเป็นเยี่ยมและนำมาใช้ในการสลักไม้ จึงเชื่อว่าสุโขทัยคงจะมีเครื่องจำหลักไม้ที่งดงามอีกมาก แต่พุพังไปตามกาลเวลา แต่อย่างไรก็ตามเครื่องจำหลักไม้ได้มีวิวัฒนาการต่อมาในสมัยอยุธยาและเจริญสูงสุด ในสมัยอยุธยามีตั้งแต่สลักพระพุทธรูปขนาดเล็ก ลายประดับตกแต่งสถาปัตยกรรม หน้าบัน บานประตูหน้าต่าง ธรรมาสน์ สังเค็ด โขน เรือตู้พระธรรม ฯลฯ งานจำหลักไม้แบบนูนบนบานประตูที่น่าสนใจในสมัยอยุธยา ได้แก่
- บานประตูที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาพระนครศรีอยุธยา 3 ชิ้น รูปเซี่ยวกาง บานประตูรูปเทวดาถือพระขรรค์และช่อกระหนก และบานประตูรูปเทวดา บานประตูทั้ง 3 จำหลักนูนสูงเป็นของสมัยอยุธยาตอนต้นที่งดงามมากแม้ส่วนใหญ่จะชำรุดแล้วก็ตาม
- บานประตูวิหารวัดพนัญเชิง และวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ ศิลปะประมาณสมัยพระเจ้าประสาททอง
- บานประตูไม้จำหลักรูปเทวดาบาลยืนบนแท่นที่ยักษ์กำลังแบก เป็นศิลปะสมัยพระนารายณ์มหาราชอยู่ที่วิหารแกลบวัดท่าพระ กรุงเทพมหานคร
- บานประตูหน้าต่างจำหลักไม้ของวัดใหญ่จอมปราสาท สมุทรสาคร เป็นรูปธรรมชาติ ภูเขา ต้นไม้ นกกินรี ฯลฯ และมีลวดลายประกอบ
- บานประตูศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณราม เพชรบุรี เป็นลายจำหลักไม้ลายก้านขด
นอกจากนั้นยังมีธรรมาสน์และสังเค็ดที่สวยงามหลายที่ เช่น ที่วัดศาลาปูน วัดหน้าพระเมรู พระนครศรีอยุธยา และเครื่องครุภัณฑ์แกะไม้ที่สวยงามอื่น ๆ อีกมาก
ที่สำคัญมีตู้พระธรรมสมัยอยุธยา จำหลักไม้เรื่องทศชาติชาดกบนบานตู้ทั้ง 2 และด้านข้างซ้ายขวาการจัดภาพจำหลักบนตู้พระธรรมใบนี้มีลักษณะเดียวกับการจัดภาพของภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยอยุธยาโดยทั่วไป พื้นหลังของภาพตู้พระธรรมใบนี้เป็นสีชาด ส่วนสถาปัตยกรรมบางส่วนเปิดทอง ทำให้ส่วนนั้นเด่นขึ้นและเกิดความแตกต่างทางด้านความลึกลับในส่วนที่ไม่ได้ปิดทอง บุคคลที่ปรากฏในภาพ ตัวเอกแต่งกายเหมือนภาพพระ – นางในจิตรกรรม และเน้นด้วยกรปิดทองเหมือนกัน ส่วนภาพบุคคลธรรมดาน่าสนใจมาก เพราะแสดงให้เห็นวัฒนธรมการแต่งกาย การไว้ผม และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในยุคอยุธยาตอนปลายได้เป็นอย่างดี ตู้พระธรรมใบนี้ ปัจจุบันอยู่ในห้องจัดแสดงศิลปะอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
เครื่องจำหลักไม้สมัยรัตนโกสินทร์มีปรากฏอยู่มากเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ที่ถือว่ามีค่าสูคือ บานประตูสลักไม้วิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวนราม กรุงเทพมหานคร เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปพรรณพฤกษาซ้อนกันถึง 3 ชั้น มีภาพสัตว์ประเภทนก กระรอก กระต่าย ลิง ฯลฯ ประกอบเป็นการสลักไม้ที่สลับซับซ้อนงดงามมาก ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พระนคร นอกจากนั้นยังมีเครื่องจำหลักไม้อื่น ๆ ที่มีชื่อ เช่น ธรรมาสน์ทรงกลม ที่นำมาจากจังหวัดนนทบุรี พระราชยาน หมู่เรือนพระราชพิธีธรรมมาสน์ รวมทั้งพวกเครื่องเรือน ประเภทตู้เตียงต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ก็อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตามบ้านโบราณและตามวังเก่าที่เก็บรักษาไว้ นั่นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการจำหลักไม้กับศิลปะไทยเป็นอย่างยิ่ง


4. ปูน
ปูนเป็นวัสดุที่ช่างปั้นไทยเราคุ้นเคยมาแต่โบราณ มีความเชี่ยวชาญ ช่ำชอง และเข้าใจในธรรมชาติของวัสดุชนิดนี้เป็นอย่างดี โดยนำเอาหินปูนมาเผาให้สุกและป่นทำให้เป็นผงเมื่อผสมน้ำยาจะทำให้เกิดความเหนียวนุ่มขึ้น ใช้ปั้นเป็นภาพ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป เทวดา นางอัปสร และปั้นเป็นลวดลายประดับอาคารต่าง ๆ ขณะปั้นมีความอ่อนนุ่มคล้ายปั้นด้วยดินเหนียว เมื่อทิ้งระยะเวลาหนึ่งก็แข็งตัวภายหลัง และเช่นเดียวกับวัสดุที่เป็นไม้ ช่างได้นำปูนมาสร้างสรรค์งานประติมากรรมมาแต่โบราณ จึงมีผลงานสำคัญมากมาย ได้แก่
4.1 ประติมากรรมรูปเคารพ มีพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ เช่น พระอัจนะ และพระอัฎฐารส จะใช้ศิลาแลงหรืออิฐก่อเป็นแกน และโบกปูนปั้นแต่งภายนอก พระขนาดใหญ่ของศิลปะสมัยสุโขทัยนี้มีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะพระอัจนะเป็นพระพุทธรูปนั่งปรางมารวิชัย และพระอัฎฐารสเป็นพระพุทธรูปประทับยืนหรือปางประทานอภัย พระอัจนาและพระอัฎฐารสปูนปั้นที่สำคัญ คือ พระอัจนะพระประธานในพระมณฑปวัดศรีชุมจังหวัดสุโขทัย พระอัจนาในมณฑปวัดตะพังทองหลาง พระอัฎฐารสวัดสะพานหิน สุโขทัย พระอัฎฐารสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก เป็นต้น
4.2 ประติมากรรมตกแต่งสถาปัตยกรรม ประติมากรรมปูนปั้นที่มีชื่อเสียง คือ ลายปูนปั้นสุโขทัยการผสมปูนเพื่อปั้นภาพเหล่านี้แสดงถึงความชำนาญของช่าง ปูนที่ผสมนี้เรียกว่า “ปูนเพชร” เมื่อแห้งดีแล้วจะมีความแข็ง ทนทานต่อดินฟ้าอากาศ

งานปูนปั้นที่มีคุณค่าของสมัยสุโขทัยช่วงนี้ที่สำคัญมีดังนี้คือ
1 ) ภาพปูนปั้นในซุ้มด้านทิศใต้ของมณฑปวัดตะพังทองหลาง เป็นภาพพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ ลักษณะพระพุทธรูปนูนสูงปานลีลาเป็นทิพยลักษณ์งดงามมาก เครื่ององค์อยู่บนรัตนโสปานะ ( บันไดแก้ว ) แวดล้อมด้วยพระอินทร์ พระพรหมที่มีขนาดเล็กกว่าภาพนูนต่ำ แม้พระเศียรองค์พระพุทธรูปจะหักแต่มิได้ทำให้คุณค่าทางศิลปะลดน้อยลงแต่อย่างใด จัดได้ว่าเป็นภาพปูนปั้นที่มีชื่อเสียงและสวยงามที่สุด
2 ) ภาพปูนปั้นประดับหน้ซุ้มปรางค์ทิศ วัดมหาธาตุ สุโขทัย เป็นภาพพุทธประวัติประกอบลวดลาย หน้ากาล มกร และกินนร
3 ) ปูนปั้นฐานเจดีย์วัดเจดีย์สี่ห้อง ภาพเทพ นางอัปสรยืนถือหม้อ ต้นไม้ ดอกไม้ กับรูปราชสีห์ นั่งบนคอช้างหมอบโผล่จากฐานเจดีย์ ฝีมือสูงมาก ภาพให้ชีวิตและอารมณ์เคลื่อนไหวกลมกลืนกันดี
4 ) ภาพปูนปั้นประดับฐานชั้นล่างของเจดีย์เหลี่ยมหน้าวิหารวัดพรพายหลวง สุโขทัย มีอิทธิพลอินเดียใต้อยู่ ทั้งทรวดทรงของเทวดา ท่านั่งอัญชลีและเครื่องประดับต่าง ๆ เป็นต้น
5 ) ลายปูนปั้นสถาปัตยกรรมของอยุธยาก็ปั้นได้อย่างวิจิตรพิสดารลักษณะเป็นลวดลายกระหนกที่ประดิษฐ์เป็นแบบแผนของศิลปกรรมยุคนี้ ปั้นประดับตามหน้าบันซุ้มประตู หน้าต่างโบสถ์ วิหาร ที่สำคัญในยุคนี้ คือ ลายปูนปั้นพระอุโบสถวัดเขาบันไดอิฐ เพชรบุรี ฝีมือช่างสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ สวยงามทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ลายปูนที่ซุ้มประตูวิหารหลวง วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา ฝีมือช่างสมัยเดียวกัน และลายปูนปั้นที่ซากพระอุโบสถวัดภูเขาทองเป็นลายเชิงกรวยที่ปั้นด้วยฝีมือครูอย่างแท้จริง ลักษณะภายนอกเป็นโครงลายจะดูซ้ำ ๆ กัน แต่เมื่อพิจารณาแต่ละตัวลายเป็นอย่างละเอียดจะพบความแตกต่างกันออกไปอย่างมากมาย
5. โลหะ
ช่างไทยรู้จักใช้โลหะมาสร้างงานประติมากรรมมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 700 ปี โลหะที่นิยมใช้มีทองแดง ทองสำริด ชิน นาค เงิน ทองคำ เป็นต้น การใช้โลหะมาใช้สร้างประติมากรรม เป็นกระบวนการสุดท้ายของการปั้น – หล่อ เมื่อปั้นดินได้เนื้อหาและคุณค่าตมต้องการแล้วจึงนำมาหล่อ นอกจากจะทำให้งานประติมากรรมชิ้นนั้นมีคุณค่าแล้ว ยังทำให้อายุและความงดงามของศิลปวัตถุนั้นยืนยานขึ้น ผลงานประติมากรรมหล่อโลหะที่มีชื่อเสียงอยู่อย่างมากมาย เช่น พระศรีศายมุนี พระประธานพระอุโบสภ์ทัศน์ ฯ กรุงเทพมหานคร พระพุทธชินรราช พระประธาน พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก พระสยามเทวาธิราชทองคำประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น
การใช้โลหะสร้างงานประติมากรรมมิได้จำกัดอยู่แต่การทำรูปภาพและลวดลายในประติมากรรมรูปเคารพเท่านั้น แต่ยังมีการทำโลหะนำมาแผ่เป็นแผ่นแล้วนำไปบุรอบศิลปะสถานหรืออาคารสาถน ประเภทพระ สถูป เจดีย์ หรือพระปรางค์ขนาดใหญ่ เช่น พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เป็นต้น
6. งาช้าง
งาช้างเป็นวัสดุที่มีค่า เป็นงาของช้างที่แต่เดิมมีอยู่อย่างชุกชุมทางภาคเหนือของไทย ปัจจุบันมีจำนวนลดลงน้อยลง งาช้างมีขาวนวลเหลือง มีเนื้อละเอียด เป็นวัสดุมีขนาดไม่ใหญ่ ไม่คงคนทนต่อการใช้งานหนัก วิธีการนำไปสร้างประติมากรรมใช้วิธีแกะสลักเอาส่วนที่ไม่ต้องการออก งานที่ใช้จึงนำไปทำเป็นลวดลายประดับประเภทประณีตศิลป์เป็นส่วนใหญ่ เช่น แกะเป็นดวงตราประทับหนังสือ แกะลวดลายประกอบใบประกับหน้าสมุดข่อยคัมภีร์โบราณ ทำด้ามเครื่องดนตรี ทำด้ามพัดยศหรือตกแต่งพระราชยาน เป็นต้น ทำประติมากรรมรูปเคารพคือแกะพระพุทธรูป พระพิมพ์ และเทวรูปขนาดเล็ก ๆ ไว้แขวนห้อยบูชา
7. ขี้รัก
ขี้รักเป็นบางไม้ชนิดหนึ่งที่ได้มาจากต้นรักหรือต้นน้ำเกลี้ยง มีลักษณะเหนียว และทิ้งไว้จะแข็งตัว คงทนมาก เมื่อนำสมุกมาผสมกับยารักทำให้ยางรักมีเนื้อนุ่มคล้ายดินเหนียวสามารถนำมาปั้นแต่งเป็นรูปร่างที่ต้องการตามประสงค์ได้ หรือนำมากดพิมพ์ที่เตรียมไว้เพื่อให้เกิดเป็นลวดลายหรือรูปภาพขนาดเล็ก ๆ นำไปประดับศิลปวัตถุอื่น ๆ เช่น หัวโขน หุ่น มงกุฎ ชฎา ประดับภาชนะ หรือประดับเบญจา ฐาน ท่านต่าง ๆ เป็นต้น
8. หนังสัตว์
คือ การทำหนังสือมาเป็นวัสดุสำหรับแกะหรือฉลุ เป็นภาพทั้งหนังใหญ่และหนังตะลุง หนังใหญ่ที่ใช้หนังสัตว์มาฉลุเป็นลวดลายอย่างภาพเขียนลายไทย เป็นภาพตัวละคร ในเรื่องรามเกียรติ์ หรือภาพอื่นที่ต้องการ ปกติจะใช้หนังวัวหรือควายสลักทั้งตัว ถ้ามีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เช่น หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี บางทีอาจใช้หนังวัว 2 ตัวมาต่อกัน ถ้าต้องการขนาดของหนังให้ใหญ่ขึ้น หนังวัวเป็นที่นิยมใช้ที่สุดเพราะฟอกทำความสะอาดง่าย เมื่อฟอกแล้วอ่อนตัวม้วนเก็บได้สะดวก เมื่อแห้งสนิทไม่ย่น มีคุณภาพดีนำมาแกะฉลุเป็นลวดลายได้ง่าย แต่โบราณในเรื่องของการแกะสลักหนังใหญ่คืออาถรรพ์ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในการแกะหนังครู 3 ตัว คือ หนังฤาษี หนังพระอิศวร และหนังพระนารายณ์นั้นถือเป็นของสูงและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดมีความเกี่ยวพันกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ จะไม่ใช้หนังวัวแบบธรรมดาทั่วไป หนังพระฤาษีนิยมใช้หนังเสือหนังหมี หนังพระอิศวรและหนังพระนารายณ์มักใช้หนักวัวตายพราย คือตายขณะที่มีลูกอยู่ในท้องหรือวัวที่ถูกฟ้าผ่าตาย ทั้งนี่ถือว่าเป็นอาถรรพ์ทำให้เจ้าหนังมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นนั่นเอง
9. วัสดุอื่น ๆ
ส่วนใหญ่เป็นวัสดุไม่คงทน นำมาสร้างประติมากรรมเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ทั้งโดยเฉพาะเครื่องตกแต่งชั่วคราว เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ใช้ระยะเวลาอันสั้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมหรือกิจกรรมนั้นให้สมบูรณ์วัสดุดังกล่าวจึงไม่คงทนถาวร เช่น หยวกกล้วย กระดาษ ผัก ผลไม้ เทียน และขี้ผึ้ง ซึ่งมักจะพบเห็นตามประเพณีต่าง ๆ ของไทยทั่ว ๆ ไป

ไม่มีความคิดเห็น: