วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

คณะผู้จัดทำรายงาน

เรื่องราว...ประติมากรรมไทย

ความเป็นมาของประติมากรรมไทย

ความเป็นมาของประติมากรรมไทย
การสร้างงานประติมากรรมของมนุษย์เรามาแต่โบราณกาล เช่น การนำกระดูกสัตว์มาแกะสลักเป็นเครื่องใช้ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ หรือ การนำหินมาแกะสลักเป็นรูปเคารพ หรือปั้นดินเหนียวเป็นรูปข้าทาสบริวาร รูปช้างม้า แล้วเผาไฟจนกลายเป็นดินเผาไว้ในบริเวณหลุมศพของจักรพรรดิ ซึ่งเป็นคติอย่างหนึ่งของจีนในอดีต สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประติมากรรม เกิดขึ้นจากความต้องการของมนุษย์ เพื่อใช้ประโยชน์จากประติมากรรม
ต่อมาเมื่อศาสนาเกิดขึ้นในโลก ความศรัทธาในศาสนาของมนุษย์ เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการสร้างรูปเคารพ รูปศาสดาของแต่ละศาสนาตลอดจนถึงรูปสัญลักษณ์ประจำศาสนา เช่น พระพุทธรูปต่างๆ เป็นต้น

ยุคของประติมากรรมไทย

ยุคของประติมากรรมไทย
ตามหลักฐานที่พบในประเทศไทยส่วนมากจะพบประติมากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามากกว่าประติมากรรมประเภทอื่น ๆ การแบ่งยุคสมัยของประติมากรรมจึงยึดรูปแบบของประติมากรรมพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธรูปเป็นหลัก และอาศัยการแบ่งยุคสมัยของศิลปไทยที่ใช้พุทธศิลป์เป็นแนวทางเพราะเป็นศิลปะวัตถุที่มีให้ศึกษาค้นคว้าได้มาก ฉะนั้นการแบ่งยุคสมัยของประติมากรรมไทยต่อไปนี้จะแบ่งตามแนวทางที่ผู้รู้ได้จำแนกไว้ยุคสมัยของประติมากรรมไทยในลักษณะนี้คือ ประติมากรรมยุคก่อนไทยและประติมากรรมไทย

ประติมากรรมก่อนไทย

ประติมากรรมก่อนไทย
ประติมากรรมก่อนไทย คือ ประติมากรรมที่สร้างขึ้นก่อนศิลปเชียงแสน หรือก่อนพุทธศตวรรษที่ 15 นักประวัติศาสตร์ศิลป์และโบราณคดียังหาข้อยุติไม่ได้ว่าศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในยุคต่าง ๆ ก่อนที่คนไทยจะรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นแท้จริงเป็นอาณาจักรล้านนาหรือสุโขทัย ศิลปกรรมและประติมากรรมที่พบในยุคก่อนศิลปไทยนั้นไม่อาจหาข้อสรุปได้ว่าเป็นฝีมือของคนไทยที่อยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยนี้มาหลายพันปีแล้ว หรือเป็นฝีมือของชนชาติอื่น ๆ เช่น พวกละว้า มอญโบราณ ที่เข้ามาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ ได้แก่ ดินแดนสุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี มาก่อนที่คนไทยจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตาม การแบ่งยุคสมัยประติมากรรมต่าง ๆ ที่พบในประเทศไทย นักประวัติศาสตร์ศิลป์ก็ได้อาศัยรูปแบบของศิลปะที่พบ แล้วจัดเป็นยุคต่าง ๆ ดังนี้คือ

ประติมากรรมสมัยทวารวดี

ประติมากรรมสมัยทวารวดี
ประติมากรรมสมัยทวารวดีส่วนมากที่พบเป็นประติมากรรมที่สลักด้วยหินสีเขียวเป็นพระพุทธรูป ลักษณะยังเป็นแบบเริ่มแรกซึ่งเรียกกันว่าสมัยเอาเคอิค ยังมีอิทธิพลของศิลปะอมราวดีและคุปตะของอินเดียผสมอยู่ ประติมากรรมสมัยทวารวดีได้วิวัฒนาการขึ้น และมีอิทธิพลต่อพระพุทธรูปสมัยอื่น ๆ ของไทยด้วย โดยเฉพาะพุทธรูปสมัยเชียงแสน และศิลปทางภาคเหนือของไทย นอกจากพระพุทธรูปสลักด้วยหินแล้วได้พบประติมากรรมอื่น ๆ เช่น ปูนปั้นและดินเผาส่วนมากเป็นประติมากรรมประดับสถาปัตยกรรม เช่น รูปปูนปั้นประดิษฐานสถูปเจดีย์ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีประติมากรรมดินเผาซึ่งพบมากในบริเวณจังหวัดนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประติมากรรมสมัยทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 ประติมากรรมสมัยนี้ได้ให้อิทธิพลแก่ประติมากรรมยุคใกล้เคียงอย่างมาก จะเห็นว่ารูปแบบของประติมากรรมสมัยทวารวดีมีอิทธิพลผสมผสานอยู่ในประติมากรรมอื่น ๆ ในสมัยต่าง ๆ ทั่วไป

ประติมากรรมสมัยศรีวิชัย

ประติมากรรมสมัยศรีวิชัย
ประติมากรรมสมัยศรีวิชัย ส่วนมากพบในบริเวณภาคใต้ ลักษณะประติมากรรมได้รับอิทธิพลและแบบอย่างมากศิลปสมัยศรีวิชัยของชวา ประติมากรรมสมัยนี้มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 18 โดยได้รับอิทธิพลมาจากศิลปคุปตะและปาละของอินเดีย โดยผ่านเข้ามาจากชวา เข้ามาสู่ภาคใต้ของไทยจะมีศูนย์กลางอยู่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประติมากรรมสมัยศรีวิชัยมีอิทธิพลต่อลักษณะศิลปเชียงแสนและสุโขทัย ประติมากรรมของศรีวิชัยมีทั้งพระพุทธรูปและปูนปั้นประดับตกแต่งสถาปัตยกรรม เช่น ประดับประตู แต่งท่อระบายน้ำซึ่งเรียกว่า มกระ ( Masara ) เป็นรูปแบบที่แพร่หลายมาก และเข้มาปรากฏอยู่ในศิลปะไทยในสมัยต่อ ๆ มา