วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ประติมากรรมสมัยรัตนโกสินทร์

ประติมากรรมสมัยรัตนโกสินทร์
เมื่อกรุงศรีอยุธยาได้ถูกทำลายเสียหายอย่างมากในคราวเสียกรุงครั้งหลังสุด ศิลปกรรมต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยาได้ถูกทอดทิ้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในกรุงศรีอยุธยาและตามหัวเมืองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสร้างกรุงเทพ ฯ ขึ้นในปี พ.ศ. 2325 ได้ทรงสร้างวัดต่าง ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก และได้โปรดให้รวบรวมพระพุทธรูปในที่ต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักรจากพิษณุโลก สวรรคโลก ลพบุรี อยุธยาถึง 1,200 องค์มาบูรณะซ่อมแซมใหม่ และอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานตามโบสถ์วิหารของวัดที่สร้างขึ้นใหม่
การสร้างพระพุทะรูปขึ้นใหม่ให้มีลักษณะพิเศษตามยุคสมัยของตนเองนั้นจะต้องอาศัยปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งทางด้านปัญญาความคิดและฝีมือของประติมากร ฉะนั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือยุคต้นของกรุงเทพ ฯ ความสนใจของผู้คนมุ่งไปทางด้านการสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างพระนคร อันเป็นการจำลองกรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่มากกว่าที่จะคิดค้นประดิษฐ์พระพุทธรูป จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงฟื้นฟูประติมากรรมขึ้นโดยทางสลักบานประตูวิหารวัสดุทัศน์ทรงปั้นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ นอกจากนั้นยังได้โปรดให้เทพวราราม กรุงเทพ ฯ
อย่างไรก็ตามในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงสนพระทัยและมีพระราชประสงค์ชักจูงให้สร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ขึ้นใหม่มากถึง 40 ปาง ตามแต่ก็ไม่ได้รับความนิยม คงนิยมสร้างกันแต่ปางเก่า ๆ ที่เคยมีมาแล้ว
ในรัชกาลต่อ ๆ มา คือ รัชกาลที่ 4 – 6 แม้จะมีความพยายามที่จะสร้างพระพุทธรูปให้มีลักษณะคล้ายมนุษย์บ้างสร้างเลียนแบบพุทธรูปคันธาระของอินเดียบาง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ประติมากรรมทางด้านพระพุทธรูปของสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่มีแบบอย่างที่แน่ชัดเป็นของตนเอง ครั้งหลังสมัยรัชกาลที่ 5 ประดาช่างทางศิลปกรรมต่าง ๆ เริ่มหันเหความสนใจไปตามแบบของยุโรปมากขึ้น การสร้างพระพุทธรูปจึงหยุดชะงักไปประติมากรจำนวนมากหันมานิยมแบบอย่างของยุโรป เช่น การปั้นรูปเหมือน และการสร้างอนุสาวรีย์ และเมื่อมีการตั้งสถาบันการศึกษาทางศิลปะขึ้นตามแบบอคาเดของยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 6 ทำให้แนวทางการสร้างประติมากรรมของไทยเปลี่ยนแปลงไป และวิวัฒนาการเรื่อยมาจนเป็นประติมากรรมสมัยใหม่ และประติมากรรมร่วมสมัยจนปัจจุบันนี้

ไม่มีความคิดเห็น: