วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

กรรมวิธีพื้นฐานของประติมากรรมไทย

กรรมวิธีพื้นฐานของประติมากรรมไทย
กรรมวิธีพื้นฐานการสร้างงานประติมากรรมของไทยมีหลากหลายกันไป การเลือกใช้วัสดุให้เหมะสมกับการแสดงออกของตน การดำเนินการลำดับวิธีการสร้างประติมากรรมแต่ละชิ้นอยู่ภายใต้เหตุผลของคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของวัสดุที่นำมาเป็นสื่อการสร้างสรรค์เป็นสำคัญมีวิธีการต่าง ๆ คือ การปั้น การหล่อ การกดพิมพ์ การแกะสลัก การตอกและดุน การฉลุและการบุ

1. การปั้น
การปั้นเป็นกรรมวิธีพื้นฐานหรือวิธีเบื้องต้นแห่งการสร้างงานประติมากรรมทั่วไป ทำกันมาแต่โบราณจนปัจจุบันก็ยังกระทำกันอยู่ เป็นการเพิ่มส่วนย่อยและปะติดต่อกันเข้าเป็นกลุ่มก้อนใหญ่เป็นรูปทรงที่มีคุณค่ามีความหมาย กรรมวิธีการปั้น ตั้งแต่การขึ้นรูป พอกวัสดุที่ใช้ในการปั้นตกแต่งโดยการพอกเพิ่มหรือขูดออกกระทำได้โดยง่าย สามารถแก้ไขแต่งเติมให้เป็นไปตามที่ประติมากรรมปรารถนา วัสดุที่นำมาใช้ปั้นมักเป็นวัสดุที่อ่อนนุ่ม ไม้แข็งกระด้างสามารถขยำขยี้ ขูด ขีด แต่ง แต้ม ได้สะดวกฉับพลัน วัสดุดังกล่าวนี้ได้แก่ ดิน ปูน ขี้ผึ้ง เป็นต้น

1.1 การปั้นด้วยดิน ประติมากรไทยโบราณนิยมปั้นรูปด้วยดินเป็นรูปทรงต่าง ๆ ทั้งที่เป็นรูปทรงที่มีคุณค่า ความงามด้วยตัวของประติมากรรมเองและรูปทรงและลวดลายเพื่อจะใช้นำไปประกอบกับสถาปัตยกรรม แต่การปั้นมิได้เป็นกรรมวิธีทั้งหมดของงานประติมากรรมเพราะดินไม่มีความคงทนแม้เมื่อแข็งตัวแห้งสนิทแล้ว มักจะแตกตัวหรือเมื่อโดนน้ำมักจะละลายเสียรูปทรงตั้งเดิมหมด ฉะนั้นเมื่อปั้นดินเสร็จแล้วก็จะนำไปทำตามกระบวนการหล่อด้วยโลหะต่าง ๆ หรือนำไปเผาเพื่อให้เกิดวามคงทนถาวร เช่น พระพุทธรูปสำริดสมัยต่าง ๆ หรือภาพหรือลวดลายดินเผาประดับอาคารสมัยทวาราวดี พระพิมพ์ดินเผาสมัยศรีวิชัย เป็นต้น
ประติมากรสุโขทัยที่ทำเครื่องเคลือบดินเผาประดับพุทธสถานนิยมปั้นรูปต่าง ๆ ด้วยดินโดยการขูดเพื่อเป็นโครงสร้างใหญ่ของรูปเพื่อให้ภายในรูปกลวง เมื่อขึ้นโครงของรูปโดยประมาณแล้วผึ่งดินให้หมาดจับแข็งตัวเล็กน้อยก็แต่งปั้นพอกเสริมให้เกิดเป็นภาพประกอบลายตามต้องการจนสำเร็จ เพื่อต้องการให้อยู่คงทนก็นำเข้าเตาเผาแล้วเคลือบ ประติมากรรมดังกล่าวได้แก่ ประติมากรรมประดับพุทธสถานสุโขทัยประเภทช่อฟ้าบราลี มกร ยักษ์ เป็นต้น

1.2 การปั้นด้วยขี้ผึ้ง มีอยู่ 2 แบบ แบบหนึ่งหล่อมาจากแบบหุ้นที่ปั้นด้วยดิน และนำมาแต่งเพิ่มเติมในส่วนละเอียดประณีต เพื่อให้เกิดความมีคุณค่าขึ้นก่อนนำไปหล่อเป็นโลหะต่าง ๆ ภายหลัง หรืออีกแบบหนึ่งช่างไทยอาจจะก่อแกนของรูปด้วยดินเหนียวและทรายผสมน้ำขยำเข้าด้วยกันปั้นทำเป็นรูปร่างแบบหยาบ ๆ พอได้เค้าโครงภาพตามที่ประติมากรต้องการ จะทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อผึ่งให้แห้งจึงพอกปั้นขี้ผึ้งต่อ โดยการนำขี้ผึ้งมาแผ่เป็นแผ่น หนา บาง เล็กใหญ่ตามที่ช่างต้องการ โดยนำมาปิดกับหุ้นแกนแล้วจึงตกแต่งให้ได้สัดส่วนเพื่อเพิ่มเติมเนื้อหา แต่งทำรายละเอียดให้สมบูรณ์ก่อนนำไปหล่อเป็นโลหะเช่นกัน

1.3 ปั้นด้วยปูน มีอยู่ 2 แบบ
แบบที่ 1 ประติมากรรมปั้นปูนเป็นรูปทรงลอยตัว เช่น การปั้นรูปพระพุทธรูปขนาดใหญ่ คือ พระอัจนะและพระอัฎฐารส การปั้นพระขนาดใหญ่แบบนี้มักก่ออิฐขึ้นเป็นแกนอยู่ภายในหรือใช้ศิลาแลงและถากโกลนที่เป็นโครงสร้างของภาพเป็นรูปหยาบ ๆ โดยคาถึงถึงสัดส่วนโครงสร้างและเส้นรูปนอกใหญ่ ๆ ของรูปทรงให้มีการลงตัวเหมาะสม เมื่อได้โครงสร้างของรูปทรงหยาบ ๆ แล้วจึงปั้นปูนพอกเพิ่มเติม เสริมแต่งรายละเอียดที่ประติมากรต้องการ
แบบที่ 2 การปั้นปูเป็นภาพหรือลวดลายประดับผนังหรือฐานของอาคารเป็นการปั้นปูนนูนสูงหรือต่ำ ช่างปั้นจะร่างแบบหรือร่างโครงของภาพหรือลวดลายด้วยสีหรือขูดขีดลงไปบนพื้นภาพก่อนจะปั้นปูนลงไปบนพื้นภาพจะต้องทำให้พื้นนั้นขรุขระเป็นร่องรอยเพื่อให้ปูนที่นำมาพอกลงไปเป็นภาพหรือลวดลายเกาะจับติดแน่นกับพื้นภาพ ส่วนไหนที่เป็นภาพที่จะต้องนูนสูงจากพื้นมากมักจะตอกตะปูดอกเห็ดให้สูงจากพื้นขึ้นมาเล็กน้อยเพื่อเป็นแกนยึดจับภาพหรือลายที่สูงมาจากพื้นมากให้คงทนและอยู่ได้นาน การปั้นปูนนั้นในขั้นแรกต้องปั้นเป็นโครงภาพและลวดลายเพียงหยาบ ๆ ก่อน แล้วจึงพวกเติมเสริมรายละเอียดจนเสร็จ



2. การหล่อ
การหล่อเป็นกรรมวิธีการเปลี่ยนแปลงสภาพของวัสดุทางการปั้นต่าง ๆ เช่น ดิน ขี้ผึ้ง ที่เป็นวัสดุที่ไม่แข็งกระด้างและปูนซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่สู้จะคงทน ให้เป็นประติมากรรมมีความแข็งแรงแกร่งคงทนถาวรและมีคุณค่าในเนื้อของวัสดุเอง โดยคงรูปแบบเหมือนกับรูปต้นแบบที่ปั้นด้วยวัสดุไม่คงทน และสามารถสร้างประติมากรรมจำนวนเพิ่มขึ้นจากรูปต้นแบบด้วยวิธีการหล่อโดยมิจำกัดจำนวน
วิธีการหล่อโลหะของไทยเป็นวิธีการหล่อโลหะประเภท “ขับขี้ผึ้ง” กล่าวคือ นำหุ่นขี้ผึ้งที่แต่งหล่อมาจากต้นแบบที่เป็นดินหรือที่แต่งมาจากโกลนแบบของขี้ผึ้งเอง และแต่งส่วนละเอียดแล้วนำเอาดินเหนียมผสมทราบพอกบนหุ้นขี้ผึ้ง ต่อติดสายชนวนเป็นช่องทางไว้ให้ขี้ผึ้งไหลถ่ายเทออกหรือโลหะเหลวหลอมละลายไหล่ถ่ายเทเข้า นำรูปหุ้นขี้ผึ้งที่พวกดินทรายนั้นไปสุมไฟให้ร้อนเพื่อให้ขี้ผึ้งที่เป็นต้นแบบภายในละลายไหลออกมาตามท่อสายชนวน ช่องหล่อก็จะเปิดทางท้ายชยสนให้ขี้ผึ้งเหลวไหลออกจากเปลือกดินทรายหรือแม่พิมพ์นั้นจนแน่ใจว่าหมดจึงปิดรูชนวน นำโลหะที่ถูกหลอมละลายด้วยไฟจนกลายเป็นของเหลวเทกรอกลงไปในแม่พิมพ์ลงไปแทนที่เนื้อขี้ผึ้งเดิมจนเต็มแม่พิมพ์ เมื่อโลหะนั้นเย็นตัวลงจนจับตัวแข็งจึงทุบเปลือกของแม่พิมพ์ดินผสมทรายนั้นทิ้งจะได้ภาพหล่อโลหะเหมือนรูปต้นแบบที่ปั้นด้วยดินหรือขี้ผึ้ง และนำประติมากรรมโลหะมาขัดแต่งเพิ่มเติมต่อเพื่อลบรอยตะเข็บต่าง ๆ และให้ผิวเกลี้ยงเรียบอย่างสมบูรณ์ การหล่อโลหะจึงเป็นขบวนการถ่ายแบบขั้นตอนสุดท้ายทางประติมากรรมมิใช่สร้างงานประติมากรรมวิธีจากโลหะเองมาตั้งแต่ต้นจนจบสิ้น ช่างหล่อที่มิได้เป็นประติมากรจึงมิใช่ช่างศิลปะผู้สร้างสรรค์เท่านั้น

3. การกดพิมพ์
การกดพิมพ์เป็นการสร้างงานได้เป็นจำนวนมากจากแม่พิมพ์ ต่างจากกรหล่อตรงที่ไม่ต้องใช้ความร้อนเข้าช่วยแต่ประการใด การกดพิมพ์จะต้องสร้างแม่พิมพ์จากวัสดุแข็งตัว เช่น ดินเผาไฟ งาช้าง หิน โลหะ หรือไม้ มีลักษณะเป็นแผ่นหน้าราบแกะภาพหรือลายลึกลงไปในพื้น วัสดุที่ใช้ในการกดพิมพ์เป็นวัสดุเนื้ออ่อนขณะเวลากดและแข็งตัวเมื่อทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง เช่น ดิน ปูน ขี้รัก การดกนำวัสดุมาปั้นเป็นก้อนได้ขนาดกับร่องของแม่พิมพ์ กดอัดวัสดุนั้นให้จมจนเนื้อวัสดุแนบแน่นกับร่องลึกทุกส่วนของแม่พิมพ์ รอจนแห้งพอหมาด ๆ จึงสำรอกออก เกิดภาพหรือลวดลายตามที่ต้องการ งานประติมากรรมประเภทที่ใช้กรรมวิธีนี้ได้แก่ พระพิมพ์ ลวดลาย ประดับหัวโขน ชฎา มงกุฎต่าง ๆ และลวดลายประดับบุษบก ธรรมาสน์ และอาคารสถานทางศาสนา


4. การแกะสลัก

4.1 การแกะ เป็นกรรมวิธีการสร้างงานประติมากรรมขนาดเล็ก ๆ เช่น แกะพระพุทธขนาดเล็ก แกะตราประทับเอกสาร และลวดลายประดับสิ่งของเครื่องใช้ เป็นงานประณีตศิลป์ปละปกสมุดไทยหรือคัมภีร์โบราณ การกะวิธีดำเนินการโดยการขีด ขูด คว้าน เหลา และเขียนเอาส่วนย่อย ๆ ที่ไม่ต้องการออก ผลงานมีความประณีตสูงเนื่องจากเป็นงานเล็กและอยู่ใกล้ตาผู้ใช้
4.2 การสลัก เป็นกรรมวิธีการสร้างงานประติมากรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีความละเอียดประณีตพอสมควร เช่น การสลักบานประตูหน้าต่าง หน้าบัน คันทวน โบสถ์ วิหารต่าง ๆ การสลักมีวิธีการดำเนินการโดยการถาก ตัด สกัด เจาะ ตอก และควักคว้านและเมื่อแกะแต่งส่วนละเอียดนำเอาวิธีการในขั้นต่าง ๆ มาใช้ก็ได้

5. การตอกและดุน
การตอกและดุนโลหะนำทำภาชนะโลหะต่าง ๆ ที่มีผิวเรียบ ในเกิดภาพและลวดลายนูนขึ้นตามต้องการชื่อนั้นมาจากกรรมวิธีการทำ เนื่องจากก่อนจะตอกและดุนภาชนะใด ๆ จะต้องเอาชั้นเคี่ยวให้เหลวเทหยอดลงในพื้นโลหะด้านหลังหรือภายในภาชนะโลหะตามภาพหรือการจะสร้างงาน รอให้แข็งตัว จึงจัดการตอกพื้นโลหะหรือด้นหน้าภาชนะโลหะตามภาพหรือลวดลายที่ร่างหยาบ ๆ ไว้ เมื่อได้ความนูนแล้วจึงสลักหรือทำเป็นแบบเส้นรูปนอกและส่วนละเอียดให้เกิดวามงดงามตามต้องการ

6. การฉลุ
การฉลุเป็นกรรมวิธีการทำรูปทรงและลวดลายให้ปรากฏบนพื้นราบ วัสดุที่ทำคือ หนัง กระดาษ แผ่น โลหะหรือวัสดุอื่น ๆ งานประติมากรรมประเภทนี้ ได้แก่ หนังใหญ่ หนังตะลุง ฉาก ม่านสำหรับพระเมรุ เบญจา หรือหีบศพ เป็นต้น

7. การบุ
การบุเป็นกรรมวิธีการสร้างประติมากรรมประเภทหัวโขน กระทำขึ้นโดยมีฝุ่นหรือแบบรองรับหลาย ๆ วัสดุ เช่น กระดาษฟางปิดหุ่นหรือแบบทีละชั้นรัดรูปเข้ากับหุ่นประมาณ 15 ชั้น เป็นกรรมวิธีการนำวัสดุส่วนย่อยเพิ่มเติมเข้าเป็นส่วนใหญ่เมื่อได้ความหนาตามต้องการแล้วนำไปตากแดดกระพอหมาด ๆ แล้วรีดให้เข้ารูปไม่โป่งพองและผ่าด้านหลังออกเป็น 3 ตอน แล้วจึงเกะออกจากหุ่นเย็บติดด้วยลวดเล็ก ๆ และนำกระดาษสามาปิดทับรอยลวดข้างนอกข้างในให้เรียบสนิท แล้วจึงตกแต่งเขียนลวดลายปั้นลายรักเป็นสันหน้า สั้นคิว สั้นปาก ติดประดับตกแต่งดวงตาและจอนหู สร้างลักษณะเฉพาะของหุ่นแต่ละตัว
จากกรรมวิธีที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การสร้างงานประติมากรรมแต่ละประเภทต้องมีความพิถีพิถันประดิดประดอยในกรรมวิธีแห่งตนเป็นพิเศษเฉพาะ เป็นการผสมผสานชีวิต วัสดุ กับความสามารถของช่างความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้วัสดุอย่างถูกต้องลึกซึ้ง ความสามารถเชิงฝีมืออย่างเยี่ยมยอดและความพิถีพิถันตามกรรมวิธีแต่ละชนิดในงานเชิงศิลปะ ส่งผลให้เกิดความเป็นลักษณะไทยขึ้นในงานประติมากรรมแต่ละชิ้น

ไม่มีความคิดเห็น: